สมาคมแม่บ้านมหาดไทย (Ministry Of Interior's Ladies Association)
ความเป็นมาของสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และดอกแก้ว สัญลักษณ์ของสมาคมแม่บ้านมหาดไทย

          เริ่มด้วยการรวมกลุ่มในรูปของชมรมแม่บ้าน ซึ่งสามีรับราชการอยู่ในกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2524 และได้รับอนุญาตจัดตั้งเป็น"สมาคมแม่บ้านมหาดไทย" เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2525

         โดยใช้ดอกแก้วเป็นสัญลักษณ์ของสมาคมฯ เนื่องจาก "ดอกแก้ว" เป็นดอกไม้ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงโปรด วัตถุประสงค์ของสมาคมฯ เพื่อส่งเสริมความสมัครสมานสามัคคี อุปการะซึ่งกันและกันระหว่างแม่บ้านมหาดไทย เป็นศูนย์รวมความคิดเห็น การปฏิบัติงานของกลุ่มแม่บ้านมหาดไทย พร้อมทั้งพัฒนาบุคลิกภาพ โดยส่งเสริมการศึกษา สุขภาพอนามัย การกีฬาบันเทิง ศีลธรรมจรรยา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกลุ่มแม่บ้านมหาดไทย เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในด้านสวัสดิภาพความเป็นอยู่ และความเข้าใจอันดีซึ่งกันและกันของครอบครัวข้าราชการกระทรวงมหาดไทย

ข้อบังคับของสมาคมแม่บ้านมหาดไทย แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2565

          ด้วยแม่บ้านมหาดไทยมีความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ ในอันที่จักเสริมสร้างและดำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ อันดีระหว่างแม่บ้านมหาดไทย กับทั้งจะได้ร่วมกันดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม จึงได้จัดทำข้อบังคับฉบับนี้ขึ้นเพื่อเป็นหลักในการดำเนินภารกิจตามเจตนารมณ์ของสมาชิก ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้จัดตั้งสมาคมขึ้น เรียกว่า "สมาคมแม่บ้านมหาดไทย" หรือเรียกโดยย่อว่า "สมาคม มมท."
ข้อ 2 ให้ใช้ข้อบังคับนี้ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2565
ข้อ 3 ที่ตั้งของสมาคม ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย ถนนอัษฎางค์ แขวงราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร


ข้อ 4 (1) เครื่องหมาย เป็นเข็มกลัดหรือตราสัญลักษณ์รูปวงกลมมียอดแหลมเป็นลายกระหนก พื้นน้ำเงินเข้ม เป็นรูปสิงห์สีทองอยู่ตรงกลาง ขอบสีทอง และคำว่า "แม่บ้านมหาดไทย" เป็นสีทอง อยู่บนพื้นขาว


          (2) เครื่องแบบ กระโปรงหรือกางเกงสีน้ำเงินเข้ม เสื้อพื้นสีน้ำเงินเข้ม ลายดอกแก้วขาว
ข้อ 5 ในข้อบังคับนี้

          สมาคม หมายความว่า สมาคมแม่บ้านมหาดไทย
          คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการบริหารสมาคมแม่บ้านมหาดไทย
          คณะผู้ริเริ่ม หมายความว่า คณะผู้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมแม่บ้านมหาดไทย
          แม่บ้านมหาดไทย หมายความถึง คู่สมรสของข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงาน รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ผู้บริหาร สมาชิก และพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้หมายความรวมถึงข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ผู้บริหาร สมาชิก และพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่มีคู่สมรสด้วย  

ข้อ 6 วัตถุประสงค์ของสมาคม มีดังต่อไปนี้
          (1) เทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

          (2) ส่งเสริมความสมัครสมานสามัคคี และอุปการะซึ่งกันระหว่างแม่บ้านมหาดไทย

          (3) เป็นศูนย์รวมความคิดเห็นและปฏิบัติงานของกลุ่มแม่บ้านมหาดไทย

          (4) พัฒนาบุคลิกภาพ โดยส่งเสริมการศึกษา สุขภาพอนามัย และการกีฬา บันเทิง ศีลธรรมจรรยา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกลุ่มแม่บ้าน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในด้านสวัสดิภาพความเป็นอยู่และความเข้าใจอันดีซึ่งกันและกันของครอบครัว

          (5) ปฏิบัติงานในทางที่จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ ฐานะ และเสถียรภาพของพี่น้องประชาชน

          (6) จัดหาทุนเพื่อส่งเสริมการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาส

          (7) จัดกิจกรรมบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

          (8) เพื่อดำเนินการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของสมาคม สมาชิกสมาคม ตลอดจนผลิตภัณฑ์ของชุมชน และอื่นๆ โดยนำรายได้ไปใช้ในกิจการสาธารณกุศล

          (9) สมาคมนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

 

ข้อ 7 สมาชิกสมาคม มี 4 ประเภท คือ
          (1) สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ คู่สมรสรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คู่สมรสของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้มีอุปการคุณ หรือทำประโยชน์ให้แก่สมาคม ซึ่งคณะกรรมการส่วนใหญ่ ลงความเห็นสมควรเชิญเข้าเป็นสมาชิก
          (2) สมาชิกสามัญ ได้แก่ แม่บ้านมหาดไทยที่เป็นคู่สมรสของปลัดกระทรวงมหาดไทย คู่สมรสของรองปลัดกระทรวงมหาดไทย คู่สมรสของอธิบดี คู่สมรสผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย คู่สมรสของที่ปรึกษา (ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ) คู่สมรสของหัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และคู่สมรสของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ดำรงตำแหน่งข้างต้นที่ไม่มีคู่สมรส
          (3) สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ คู่สมรสของข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหาร สมาชิก และพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้หมายถึงข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย
          (4) สมาชิกสมทบ ได้แก่ บุคคลที่คณะกรรมการเห็นสมควร
ข้อ 8 การสมัครเป็นสมาชิก
          (1) ผู้สมัครเป็นสมาชิกแม่บ้านมหาดไทย ต้องยื่นใบสมัครตามแบบที่สมาคมกำหนดต่อนายทะเบียน
          (2) ผู้สมัครเป็นสมาชิกต้องชำระค่าบำรุง ดังนี้
               - สมาชิกสามัญ ตลอดชีพ 1,000 บาท
                - สมาชิกวิสามัญ ตลอดชีพ 500 บาท
                - สมาชิกสมทบ ตลอดชีพ 1,000 บาท
ข้อ 9 สมาชิกของสมาคมมีสิทธิและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
          (1) สมาชิกของสมาคมมีสิทธิ์เข้าร่วมกิจการของสมาคม และได้รับประโยชน์ตามที่สมาคมจะอำนวยให้ได้ตามวัตถุประสงค์ ตามข้อบังคับ และโอกาสอันเท่าเทียมกัน
          (2) แสดงความเห็นเป็นหนังสือเกี่ยวกับกิจการของสมาคม ส่งไปยังคณะกรรมการเจ้าหน้าที่นำเสนอ ต่อสมาคมเพื่อวินิจฉัย หรือขอให้นำเข้าปรึกษาในที่ประชุมคณะกรรมการได้
          (3) มีความรับผิดชอบต่อสมาคมในด้านคุณธรรม การชำระหนี้สินใดๆ อันสมาชิกต้องชำระตามข้อบังคับและระเบียบของสมาคม
          (4) มีสิทธิประดับเครื่องหมายของสมาคม
          (5) เสนอความเห็นเกี่ยวกับความเจริญของสมาคมต่อนายก หรือกรรมการได้
          (6) สมาชิกสามัญเป็นผู้มีสิทธิเลือกกรรมการตามข้อ 11 (1) 1.2
ข้อ 10 สมาชิกภาพจะสิ้นสุดลงเมื่อ
          (1) ตาย
          (2) ลาออก
          (3) ที่ประชุมใหญ่ลงมติไม่ไว้วางใจ โดยคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของที่ประชุม เพราะเหตุ
                ก. ประพฤติผิดศีลธรรมอันดีงาม
                ข. ประพฤติตนเป็นปฏิปักษ์ ซึ่งนำมาซึ่งความเสื่อมเสียให้แก่สมาคม

ข้อ 11 ให้สมาคมมีคณะกรรมการจำนวน 2 คณะ คือ คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการกลาง
          (1) คณะกรรมการบริหาร มีองค์ประกอบ ดังนี้
                   (1.1) คณะกรรมการบริหารโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย คู่สมรสของปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นนายกสมาคมโดยตำแหน่ง และเป็นประธานคณะกรรมการ คู่สมรสของรองปลัดกระทรวงมหาดไทย คู่สมรสของอธิบดี คู่สมรสของผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย คู่สมรสของที่ปรึกษา(ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ) คู่สมรสของหัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทยเป็นกรรมการ
                   (1.2) สมาชิกสามัญที่ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่เห็นชอบให้เป็นกรรมการ โดยเมื่อรวมกับกรรมการตาม (1.1) มีจำนวนไม่เกิน 52 คน
                    ใในกรณีที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยไม่มีคู่สมรส หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกสมาคมได้ ให้คู่สมรสของรองปลัดกระทรวงมหาดไทยที่อาวุโสตามลำดับเป็นนายกสมาคม
          (2) กรรมการกลาง มีจำนวนเท่ากับจังหวัด ให้คู่สมรสของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นกรรมการกลางโดยตำแหน่ง และมีตำแหน่งเป็นประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนั้น ๆ ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีคู่สมรสหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้และไม่ประสงค์จะรับตำแหน่งเอง ให้คู่สมรสของรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่อาวุโสตามลำดับทำหน้าที่เป็นประธานแม่บ้านมหาดไทยของจังหวัดนั้น ๆ"
ข้อ 12 ให้นายกสมาคมคัดเลือกกรรมการบริหารตามจำนวนที่เห็นสมควรเป็นอุปนายกสมาคม รวมทั้งแต่งตั้งบุคคลที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้
          (1) เลขานุการ 
          (2) เหรัญญิก
          (3) นายทะเบียน
          (4) ปฏิคม
          (5) ประชาสัมพันธ์
          (6) ตำแหน่งอื่นๆที่เห็นสมควร
ข้อ 13 ให้กรรมการบริหารมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี แต่อาจได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอีกได้ ถ้ากรรมการตำแหน่งใดว่างลงก่อนครบกำหนด ก็ให้เลือกกรรมการใหม่แทนตำแหน่งที่ว่างนั้นให้ครบจำนวน และให้ดำรงตำแหน่งได้เท่ากับระยะเวลาของผู้ที่ตนเข้ามาแทน หากนายกสมาคมพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการบริหาร ให้ถือว่ากรรมการบริหารนั้นสิ้นสุดลงพร้อมกับนายกสมาคมด้วย
ข้อ14 ในกรณีที่คณะกรรมการพ้นจากตำแหน่งตามข้อ 13 ให้คณะกรรมการชุดเดิมบริหารงานไปพลางก่อนจนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะเข้ามารับหน้าที่ และเมื่อมีคณะกรรมการชุดใหม่แล้ว ให้ดำเนินการ ส่งมอบหน้าที่การงานกันให้แล้วเสร็จภายในเวลาอันควร นับแต่วันที่คณะกรรมการชุดเดิมพ้นจากตำแหน่ง
ข้อ15 กรรมการกลางมีหน้าที่ให้ความคิดเห็นในเรื่องที่นายกสมาคมหรือคณะกรรมการบริหารเชิญประชุม
ข้อ16 อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
          (1) กำหนดนโยบาย วางโครงการ และระเบียบวิธีการต่างๆ รวมทั้งรับผิดชอบควบคุมการบริหารงาน ของสมาคมให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์
          (2) รับพิจารณาข้อเสนอของสมาชิก และอนุมัติให้มีการดำเนินงาน เมื่อพิจารณาให้เห็น ว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
          (3) กำหนดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสมาคมหรือส่วนรวม
          (4) ถอนชื่อสมาชิกออกจากทะเบียนตามความเห็นชอบของคณะกรรมการซึ่งมีมติตามข้อ 10 (2)
ข้อ 17 นายกสมาคมมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมกิจการของสมาคม บริหารกิจการทั้งปวง ในนามของสมาคมเป็นผู้แทนของสมาคมในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก มีหน้าที่เรียกประชุมใหญ่ ประชุมคณะกรรมการบริหาร เป็นประธานในการประชุมทุกครั้ง แต่งตั้งถอดถอนกรรมการ เจ้าหน้าที่ตำแหน่งต่างๆ ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการ
ข้อ 18 ให้อุปนายกมีหน้าที่ช่วยเหลือนายกสมาคมในการปฏิบัติหน้าที่ และการบริหารงานของสมาคมหรือปฏิบัติหน้าที่แทนนายกสมาคมเมื่อตำแหน่งนายกฯ ว่างลง หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยให้อุปนายกสมาคมปฏิบัติหน้าที่แทน ตามลำดับอาวุโส
ข้อ 19 คณะกรรมการบริหารอาจพิจารณาแต่งตั้งสมาชิกเป็นกรรมการผู้ช่วยตามจำนวน ซึ่งคณะกรรมการบริหารเห็นสมควร และมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะ เพื่อดำเนินการเฉพาะกิจ ของสมาคมภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการ
ข้อ 20 ให้คู่สมรสรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคู่สมรสรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้มีอุปการคุณหรือทำประโยชน์แก่สมาคมซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควรเป็นที่ปรึกษา
ข้อ 21 ให้ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อทำงานของสมาคม โดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วยตำแหน่งต่างๆ ดังนี้
          (1) เลขานุการ 
          (2) เหรัญญิก
          (3) นายทะเบียน
          (4) ปฏิคม
          (5) ประชาสัมพันธ์
          (6) ตำแหน่งอื่นๆที่เห็นสมควร
         เมื่อมีคำสั่งตั้งคณะทำงานแล้ว ให้รายงานพร้อมแนบคำสั่งให้คณะกรรมการทราบ

ข้อ 22 ให้คณะกรรมการบริหารเป็นผู้กำหนดว่า ครั้งใดจะประชุม ณ ที่ใด แล้วให้เลขานุการแจ้งสมาชิกทราบ
ข้อ 23 การออกเสียงลงมติในการประชุมคณะกรรมการบริหาร ให้ลงมติโดยเปิดเผย เว้นแต่ที่ประชุมมีมติให้ออกเสียงโดยวิธีลับ และในการออกเสียงให้ถือเสียงข้างมากของผู้เข้าประชุม หากคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานออกเสียงเพิ่มอีก 1 เสียง
ข้อ 24 ในการประชุมทุกครั้งให้บันทึกรายงานการประชุม และให้ประธานที่ประชุมลงนามกำกับ
ข้อ 25 ในการประชุมสมาชิกสมาคม ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุม หากนายกไม่อยู่ หรือไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ให้อุปนายกทำหน้าที่แทนตามลำดับอาวุโส
ข้อ 26 ให้มีการประชุมคณะกรรมการอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อพิจารณาการดำเนินกิจการของสมาคม ในกรณีจำเป็นนายกฯ อาจเรียกประชุมพิเศษได้ ในการประชุมคณะกรรมการนี้ต้องมีกรรมการเข้าประชุมเกินกว่าครึ่งหนึ่งจึงจะครบองค์ประชุม
ข้อ 26 ทวิให้มีการประชุมใหญ่สามัญของสมาคมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ส่วนการกำหนดวันประชุมเป็นหน้าที่ของ คณะกรรมการบริหารจะกำหนดขึ้น การประชุมใหญ่สามัญจะต้องมีสมาชิกประเภทสามัญมาประชุมจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม จึงจะครบองค์ประชุม หากสมาชิกไม่ครบองค์ประชุมให้นายกฯ ประกาศเลื่อนการประชุมและเรียกประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่า 14 วัน จากวันนัดประชุมครั้งแรก และในการประชุมใหม่นี้ ไม่ว่าสมาชิกจะมากี่คนก็ตาม ให้ถือว่าครบองค์ประชุม และดำเนินการประชุมได้

ข้อ 27 สมาคมอาจมีรายได้
          (1) การบริจาค
          (2) กิจกรรมที่สมาคมจัดให้มีขึ้น
          (3) ค่าบำรุงสมาคม
          (4) อื่น ๆ
ข้อ 28 การจ่ายเงินต้องได้รับการอนุมัติเบิกจ่ายเงินจากนายกสมาคม หรืออุปนายกสมาคม ตามอำนาจที่นายกสมาคมมอบหมาย
ข้อ 29 การเบิกจ่ายเงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน ต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคมกับเหรัญญิกทุกครั้ง และนายกสมาคมมีสิทธิเบิกจ่ายเงินได้ทันทีครั้งละไม่เกิน 500,000 บาท ถ้าเกินกว่านั้น ให้ขออนุมัติจากคณะกรรมการก่อนเบิกจ่าย
ข้อ 30 ให้มีบัญชีแสดงรายรับรายจ่ายโดยแท้จริงของสมาคม ตลอดจนรายละเอียดของรายรับรายจ่ายที่แสดงต่อที่ประชุมใหญ่ทุกครั้งที่มีการประชุม
ข้อ 31 ให้เหรัญญิกจัดทำสมุดบัญชีและงบดุลเสนอให้ผู้สอบบัญชีตรวจและรับรองภายในรอบระยะเวลาบัญชีตามปีงบประมาณและเก็บรักษาไว้ มิให้สูญหาย สำหรับเงินที่มีเหลืออยู่ให้นำฝากธนาคารหรือสถาบันการเงินและให้เหรัญญิกถือเงินสดได้ครั้งละไม่เกิน 30,000 บาท

ข้อ 32 ข้อบังคับนี้อาจแก้ไขเพิ่มเติมได้โดยมติที่ประชุมใหญ่ โดยมีคะแนนเสียงสองในสามของจำนวนสมาชิก ที่เข้าประชุม


ข้อ 33 สมาคมนี้ย่อมเลิกได้ โดยมติที่ประชุมใหญ่ให้เลิกด้วยคะแนนเสียงสามในสี่ของจำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมประชุม
ข้อ 34 เมื่อในที่ประชุมมีมติให้เลิก ต้องจัดให้มีการชำระบัญชี เมื่อทรัพย์สินอยู่เท่าใดให้โอนให้แก่มูลนิธิอาสารักษาดินแดน

 เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนให้สมาชิกสามัญเดิมที่ไม่เป็นสมาชิกสามัญตามข้อบังคับที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นสมาชิกวิสามัญ

-------------------------------------------------------------------

          เพื่อให้การดำเนินกิจการของสมาคมแม่บ้านมหาดไทยเป็นไปตามวัตถุประสงค์ และข้อบังคับของสมาคม เป็นการลดขั้นตอนการปฏิบัติ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานสมาคมให้เกิดความคล่องตัว
อาศัยอำนาจตามข้อ 16 ข้อ 21 ข้อ 29 แห่งข้อบังคับสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ครั้งที่ 3/2545 วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2545 คณะกรรมการบริหารสมาคมแม่บ้านมหาดไทย จึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบสมาคมแม่บ้านมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินกิจการสมาคมในเขตจังหวัด พ ศ. 2545"
ข้อ 2 ระเบียบนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศเป็นต้นไป 
ข้อ 3 ให้ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด แต่งตั้งคณะทำงานตามข้อบังคับสมาคม ข้อ 21 เพื่อช่วยเหลืองานของสมาคมภายในเขตจังหวัด ตามแต่จะเห็นสมควร แต่อย่างน้อยต้องประกอบไปด้วย

- เลขานุการ 1 คน
- เหรัญญิก 1 คน
- นายทะเบียน 1 คน

การสมัครสมาชิกในเขตจังหวัด
ข้อ 4 ผู้มีความประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกชมรมแม่บ้านมหาดไทย อาจยื่นต่อนายทะเบียนจังหวัด ตามข้อ 3
ข้อ 5 เมื่อนายทะเบียนจังหวัดได้รับใบสมัครซึ่งมีผู้ยื่นตาม ข้อ 4 ให้นายทะเบียนจังหวัดตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร และแจ้งการตอบรับเป็นสมาชิกให้ผู้นั้นทราบ และลงทะเบียนในเขตจังหวัดไว้เป็นหลักฐานการเงินของสมาคมในจังหวัด
ข้อ 6 เงินรายได้ของสมาคมภายในเขตจังหวัด ให้นำฝากไว้ในบัญชีเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ภายในเขตจังหวัดนั้น โดยใช้ชื่อบัญชี "สมาคมแม่บ้านมหาดไทย จังหวัด....."และให้เหรัญญิกแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดถือเงินสดครั้งละไม่เกิน 3,000 บาท
ข้อ 7 ให้ประธานแม่บ้านจังหวัดปฏิบัติหน้าที่แทนนายกสมาคมในการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเบิกจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการจัดทำบัญชีอันเกิดจากเงินรายได้และรายจ่ายของสมาคมในเขตจังหวัด โดยให้เหรัญญิกแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดช่วยเหลือเกี่ยวกับการเงินในกรณีดังกล่าว
ข้อ 8 การเบิกจ่ายเงินจากธนาคาร ตามข้อ 6 ต้องมีลายมือชื่อของประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดรวมกับเหรัญญิกแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทุกครั้ง
ข้อ 9 ให้ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดควบคุมทะเบียนสมาชิกของสมาคม และการเงินภายในจังหวัดให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบของสมาคมโดยเคร่งครัดและให้รายงานผลการดำเนินการของสมาคมภายในเขตจังหวัดให้สมาคมทราบทุกๆ 3 เดือน
ข้อ 10 กรณีหากเกิดความเสียหายขึ้นเกี่ยวกับกิจการของสมาคมภายในเขตจังหวัดให้ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายเสียก่อนคดีขาดอายุความ และรายงานให้สมาคมทราบโดยเร็ว

Copyright 2017. All Rights Reserved.